ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้าอย่างไรให้ปลอดภัยและประหยัด !!
ท่านทั้งหลายคงรู้สึกปวดหัวกับการเลือกซื้ออุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ไม่รู้ว่าควรจะเลือกแบบไหน ขนาดไหนดี จึงจะเพียงพอต่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของท่านและครอบครัวที่ท่านรักโดยไม่ต้องเสียสตางค์ให้มากเกินความจำเป็น วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับการเลือกซื้ออุปกรณ์เหล่านี้กันครับ
อุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้าภายในบ้านที่จำเป็นต้องมีเพื่อความปลอดภัยประกอบด้วยอุปกรณ์ 4 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. เซอร์กิตเบรกเกอร์เมน หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เบรกเกอร์เมน”
2. เซอร์กิตเบรกเกอร์ย่อย หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เบรกเกอร์ย่อย”
3. เครื่องตัดกระแสไฟฟ้า หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เครื่องตัดไฟ”
4. สายกราวน์ หรือที่คุ้นเคยกันว่า “สายดิน”
ส่วนใหญ่เจ้าของบ้านจะไม่ค่อยทราบกันว่า อุปกรณ์เหล่านี้ นอกจากจะทำหน้าที่ในการควบคุมไฟฟ้าภายในบ้านแล้ว ยังช่วยป้องกันอันตรายทางไฟฟ้าต่างๆ ให้กับผู้อยู่อาศัยอีกด้วย เราลองมาดูกันนะครับว่าอันตรายทางไฟฟ้านั้นมีอะไรกันบ้าง
เหตุเพลิงไหม้ ที่เราเห็นกันบ่อยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์นั้น สาเหตุหลักที่เราได้ยินกันคงหนีไม่พ้นเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร “ไฟฟ้าลัดวงจร” หรือเรียกอีกอย่างว่า “ไฟช็อต” นั้น คือ การที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านตัวนำจากสายเส้นหนึ่งไปอีกเส้นหนึ่งโดยไม่ผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้าใดๆ สาเหตุก็มาจากการที่ฉนวนของสายไฟชำรุดทำให้เกิดการสัมผัสกันของสายไฟทั้ง 2 เส้น ทำให้เกิดความร้อนสูงและประกายไฟและเป็นสาเหตุให้เกิดเป็นอัคคีภัยได้
นอกจากนั้นการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ามากเกินไปจนปริมาณกระแสไฟฟ้าสูงเกินกว่าที่สายไฟจะทนได้ก็เป็นเหตุทำให้สายไฟร้อนและเกิดการลุกไหม้ได้เช่นกัน เราเรียกอันตรายแบบนี้ว่า การใช้ไฟเกินขนาด หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “ไฟเกิน”ครับ
อันตรายทางไฟฟ้าที่จะกล่าวกันต่อไปนั้นเป็นอันตรายทางไฟฟ้าที่ร้ายแรงยิ่งกว่าอัคคีภัย นั่นก็เพราะเป็นอันตรายที่อาจทำให้ท่านและครอบครัวบาดเจ็บจนอาจถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว อันตรายนี้ก็คืออันตรายจาก ไฟรั่วและไฟดูด
กระแสไฟฟ้ารั่ว หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ไฟรั่ว” คือ การที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้าลงสู่พื้นดิน ซึ่งมีสาเหตุมาจากฉนวนหรือสายไฟของอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด ไฟรั่วที่พบได้บ่อยเกิดจาก
– การเดินสายไฟในผนังตึก หรือฝังดินโดยไม่ได้ร้อยท่อสายไฟ เมื่อเปลือกของสายไฟชำรุดหรือฉีกขาดจะทำให้เกิดไฟรั่วลงสู่พื้นดิน
– เกิดจากน้ำเข้าสวิตซ์หรือปลั๊กไฟเนื่องจากฝนตก หรือน้ำท่วม
– เกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐานหรือใช้งานมาเป็นเวลานานจนเสื่อมสภาพ เกิดไฟฟ้ารั่วมาที่โครงตัวถัง เช่น การเกิดไฟฟ้ารั่วที่โครงตู้เย็น เป็นต้น
ไฟรั่วนอกจากจะทำให้เกิดการสิ้นเปลืองไฟฟ้าโดยไม่รู้ตัวแล้ว ถ้ากระแสไฟฟ้ารั่วมีปริมาณมากและคนเราเอามือสัมผัสก็จะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลที่รั่วนั้นไหลผ่านตัวคนลงสู่พื้นดิน หรือเรียกว่า “ไฟดูด” ซึ่งกรณีนี้เป็นไฟดูดจากการสัมผัสโดยอ้อม นอกจากนั้นยังมีการเกิดไฟดูดอีกกรณีหนึ่งที่เรียกว่า ไฟดูดจากการสัมผัสโดยตรง ซึ่งเกิดจากการที่ท่านนำมือไปสัมผัสกับสายไฟเส้นที่มีกระแสไฟฟ้าโดยตรง เช่น กรณีที่เด็กเล็กเอานิ้วมือไปแหย่เข้าไปในปลั๊กไฟ เป็นต้น ซึ่งทุกท่านคงเคยได้ยินทั้งจากข่าวคนโดนไฟฟ้าดูดทางหน้าหนังสือพิมพ์ หรือมีประสบการณ์ถูกไฟฟ้าดูดด้วยตนเองมาแล้ว ไฟฟ้าดูดทำให้เกิดการบาดเจ็บจนถึงขึ้นพิการหรือกระทั่งเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่วินาทีเลยทีเดียว
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นนะครับว่าอันตรายทางไฟฟ้าทุกประเภทนั้นมีความร้ายแรงและสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยที่ท่านไม่รู้ตัว ดังนั้นการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมป้องกันไฟฟ้าภายในบ้านที่ถูกต้องและมีมาตรฐานโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยปกป้องท่านและครอบครัวที่ท่านรักให้ปลอดภัยจากอันตรายทางไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้ได้
คราวนี้เราจะมาพูดถึงวิธีการเลือกใช้อุปกรณ์ควบคุมและป้องกันทางไฟฟ้ากันนะครับ เริ่มต้นกันที่ “เบรกเกอร์เมน” กันก่อนเลย เบรกเกอร์เมนนั้นจะใช้เป็นตัวควบคุมไฟฟ้าหลักภายในบ้าน คือ ใช้เป็นสวิตซ์ตัดต่อวงจรไฟฟ้าหลักที่มาจากมิเตอร์ไฟฟ้า นอกจากนั้นยังเป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าในกรณีที่เกิดไฟช็อตและไฟเกินอีกด้วย การเลือกเบรกเกอร์เมนมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่ 2 ประการนั่นคือ ขนาดค่าความทนกระแสลัดวงจรต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 10 kA และขนาดกระแสไฟฟ้าที่กำหนด (แอมป์) ของเบรกเกอร์เมนที่จะนำมาใช้นั้นจะต้องพิจารณาจากขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าที่จ่ายเข้ามายังบ้านของท่าน ดังตารางต่อไปนี้
การเลือกใช้เบรกเกอร์เมนที่แอมป์สูงเกินไป เมื่อมีการใช้กระแสไฟฟ้าเกินขนาดมิเตอร์หรือสายไฟ เบรกเกอร์เมนจะไม่ตัดวงจร มีผลทำให้สายไฟเมนและมิเตอร์ได้รับความเสียหายและอาจเกิดอัคคีภัยได้ครับ
“เบรกเกอร์ย่อย” นั้นใช้เป็นสวิตซ์เพื่อแยกวงจรไฟฟ้าหลักไปเป็นวงจรย่อยเพื่อใช้ตามส่วนต่างๆ ของบ้าน ซึ่งโดยปกติและจะบรรจุรวมชุดอยู่ในกล่องพลาสติกหรือกล่องเหล็กที่เรียกกันว่า ตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต ส่วนใหญ่แล้วจะแยกวงจรย่อยออกเป็น แสงสว่าง เต้ารับ และอุปกรณ์อื่นๆ เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น หรือเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น เบรกเกอร์ย่อยนอกจากจะทำหน้าที่เป็นสวิตซ์เปิด-ปิดสำหรับวงจรย่อยแล้ว ยังเป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟช็อตและใช้ไฟเกินสำหรับวงจรย่อยนั้นๆ ด้วย ในการเลือกใช้ขนาดของเบรกเกอร์ย่อยนั้นท่านต้องเลือกให้เหมาะกับขนาดสายไฟที่ต่อออกไปจากเบรกเกอร์ย่อยนั้น ดังตารางต่อไปนี้
เช่นเดียวกันกับเบรกเกอร์เมน การเลือกใช้เบรกเกอร์ย่อยที่แอมป์สูงเกินไป เมื่อมีการใช้กระแสไฟฟ้าเกินขนาดสายไฟวงจรย่อย เบรกเกอร์จะไม่ตัดวงจร มีผลทำให้สายไฟวงจรย่อยได้รับความเสียหายได้และอาจเกิดอัคคีภัยเมื่อมีการใช้ไฟเกินขนาดได้ครับ
“สายดิน” เป็นอุปกรณ์สำคัญอีกอันหนึ่งที่ทุกบ้านต้องมีครับ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันไฟดูด ในกรณีที่เกิดจากการสัมผัสทางอ้อมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หลักการง่ายๆ ของการต่อสายดินคือการต่อสายเส้นหนึ่งซึ่งด้านหนึ่งต่อจากอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดในบ้าน ส่วนอีกด้านหนึ่งต่อลงไปยังดิน จึงเรียกกันสั้นๆ ว่าสายดิน การต่อสายไฟลักษณะนี้เพื่อที่จะกำจัดกระแสไฟฟ้ารั่วที่เกิดขึ้นกับโครงอุปกรณ์ไม่ให้ค้างอยู่ในอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งเมื่อมีคนไปสัมผัสก็จะทำให้เกิดไฟดูดได้ โดยทำให้กระแสไฟฟ้าเหล่านั้นไหลลงดินแทน ทำให้ไฟไม่ดูดคนนั่นเอง
สำหรับอุปกรณ์ควบคุมและป้องกันอันตรายทางไฟฟ้าอันสุดท้ายที่จะแนะนำก็คือ “เครื่องตัดไฟรั่ว (RCD)” ท่านคงจะสงสัยว่า เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งสามประเภทที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับบ้านของท่านได้ครบทุกประเภทแล้วคือ ไฟช็อต ไฟเกิน ไฟรั่ว และไฟดูด ทำไมท่านจึงจะต้องเสียเงินซื้อเครื่องตัดไฟรั่ว (RCD) มาใช้อีกให้เปลืองเงินในกระเป๋าท่านเปล่าๆ อีกล่ะ แสดงว่าท่านลืมอะไรบางอย่างไป สายดิน นั้นสามารถป้องกันไฟดูด ในกรณีที่เกิดจากการสัมผัสทางอ้อมเท่านั้น !! อันตรายจากไฟดูดที่เกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น กรณีที่ท่านเอามือไปแตะสายไฟเส้น L หรือกรณีที่เด็กเอานิ้วแหย่ปลั๊กนั้น สายดินจะไม่สามารถช่วยป้องกันไฟดูดให้ท่านได้ รวมถึงกรณีที่เครื่องใช้ไฟฟ้าบางตัวผู้ผลิตไม่ได้ต่อสายดินเอาไว้ให้ หรือว่าสายดินบางเส้นเกิดการชำรุด จึงเป็นการเสี่ยงต่อการเกิดไฟดูดได้เช่นกัน เครื่องตัดไฟรั่ว (RCD) นั้นสามารถตัดไฟได้ทั้งจากการสัมผัสทางตรงและทางอ้อมจึงสามารถช่วยท่านได้ในทุกกรณี
นอกจากนั้นเครื่องตัดไฟรั่ว (RCD) ยังมีลูกบิดปรับปริมาณกระแสไฟฟ้ารั่ว ซึ่งสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ประมาณค่ากระแสไฟฟ้ารั่วที่เกิดขึ้นในบ้านและยังใช้เป็นอุปกรณ์ระบุตำแหน่งไฟรั่วได้ โดยโยกสวิตซ์เบรกเกอร์ย่อยลงทั้งหมด และโยกสวิตซ์เครื่องตัดไฟขึ้น และค่อยๆ โยกสวิตซ์เบรกเกอร์ย่อยขึ้นทีละตัว ถ้าโยกสวิตซ์เบรกเกอร์ย่อยอันไหนแล้วทำให้สวิตซ์เครื่องตัดวงจรตัด แสดงว่าไฟรั่วเกิดในวงจรย่อยจากเบรกเกอร์ย่อยนั้นท่านสามารถเรียกช่างไฟมาแก้ไขไฟรั่วตรงจุดนั้นๆ ได้ เห็นไหมครับว่า “เครื่องตัดไฟรั่ว (RCD)” เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบ้านของท่าน ในการที่จะเป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟดูดไฟรั่วหลักภายในบ้าน รวมถึงเป็นอุปกรณ์ช่วยสอดส่องจุดที่เป็นอันตรายจากไฟรั่ว ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายจากไฟดูดแล้วยังช่วยประหยัดเงินค่าไฟฟ้าให้แก่ท่านได้อย่างมากอีกด้วย
หลักสำคัญ ในการเลือกซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าและป้องกันไฟฟ้าภายในบ้าน เพื่อความปลอดภัยและประหยัด มีดังต่อไปนี้
การเลือกเบรกเกอร์เมนและเครื่องตัดไฟรั่ว (RCD) ควรเลือกซื้อขนาดแอมป์ตามตารางมาตรฐานการติดตั้งที่ได้กำหนดไว้ การเลือกเบรกเกอร์เมนที่แอมป์สูงเกินไป นอกจากจะเป็นการเสียเงินโดยใช่เหตุแล้วยังทำให้เกิดอันตรายในกรณีที่เกิดปัญหาทางไฟฟ้าอีกด้วย
การเลือกซื้อเบรกเกอร์ย่อย ควรพิจารณาขนาดแอมป์ที่เหมาะสมกับสายไฟที่ใช้ การเลือกลูกย่อยที่แอมป์สูงเกินไปนอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองแล้วยังทำให้เกิดอันตรายเช่นเดียวกัน ส่วนขนาดตู้และจำนวนลูกย่อยนั้นไม่ควรซื้อขนาดใหญ่เกินความจำเป็น ควรสำรองไว้เพียง 2-3 ลูก เท่านั้น
ควรเลือกอุปกรณ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานของท่าน มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เหล่านี้ เช่น มาตรฐาน มอก. มาตรฐาน IEC หรือมาตรฐาน CE เป็นต้น